เตรียมตัวไป Everest Base Camp

การเดินทางไป Everest Base Camp (EBC) มีความเสี่ยงต่อสุขภาพค่อนข้างสูง และเมย์อยากขึ้นไปจนถึง Base Camp ก็เลยเตรียมตัวค่อนข้างเยอะ และนี่คือสิ่งที่เมย์ทำ

ซ้อมเดินป่า

เมย์กลับมาเริ่มเดินป่าครั้งแรก NOV 2022 ยังไม่จบทริปก็จองไป EBC เลย

เข้าปี 2023 จัดตารางออกทริปเดินป่าทุก 2 วีค ต่อเนื่อง 2 เดือน

ที่เลือกซ้อมด้วยการไปเดินป่า เพื่อฝึกขา ฝึกหายใจ ทำความรู้จักร่างกายตัวเอง และทดสอบเครื่องกันหนาว

ทำความเข้าใจรายละเอียดการเดินทาง

ปกติเวลาไปเที่ยวทริปที่มีคนจัดไว้แล้ว เมย์จะไม่ค่อยลงดีเทล แต่การเดินป่า เมย์เตรียมตัวทุกทริป

โดยเฉพาะทริป EBC เมย์ทำความเข้าใจรูทการเดินในแต่ละวันเพื่อเช็คว่าต้องเดินกี่กิโล ความสูงจากระดับน้ำทะเลเท่าไหร่ ต้องเตรียมอะไรเป็นพิเศษบ้าง เลยได้ศึกษาเกี่ยวกับโรค AMS เพิ่มเติม

รูทการเดิน https://himalayangatewaytrek.com/everest-base-camp-trek/

AMS คืออะไร

AMS ย่อมาจาก Acute Mountain Sickness หนึ่งในโรคที่สามารถเกิดขึ้นได้เมื่อเราไปอยู่ในที่สูง (มากกว่า 2,500 เมตรจากระดับน้ำทะเล) ความดันอากาศน้อย ทำให้ดันออกซิเจนเข้าระบบได้ไม่เท่าเดิม จนร่างกายเข้าใจว่าขาด แล้วร่างกายกำลังปรับตัว (กรณีพักแล้วหาย) หรือไม่สามารถปรับตัวได้

รูทที่เมย์กำลังจะไป สูงสุดที่ Kalaphattar 5,550 เมตรจากระดับน้ำทะเล  ออกซิเจนในเลือดอาจจะต่ำถึง 80%

อาการของ AMS 

  1. ปวด/มึนหัว 
  2. ไม่อยากอาหาร
  3. อาเจียน
  4. อ่อนเพลีย
  5. นอนไม่หลับ เฉพาะตอนกลางคืน
  6. หายใจเร็ว 

สรุปคือ คล้ายคนแฮ้ง อาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นหลังจากขึ้นที่สูงประมาณ 4-10 ชั่วโมง และใช้เวลาปรับตัวประมาณ 1-2 วัน

AMS คือโรคเบื้องต้น หากมีอาการเหล่านี้ ให้สงสัยไว้ก่อนว่าเป็น ไม่ควรฝืนร่างกาย เพราะที่อันตรายจริง ๆ คือโรคที่ต่อจาก AMS 

นั่นก็คือ High Altitude Cerebral Edema (HACE) ภาวะสมองบวม และ High Altitude Pulmonary Edema (HAPE) ภาวะปอดบวมน้ำ จากการขึ้นที่สูง ซึ่ง 2 อาการนี้หากอาการรุนแรง ถึงขั้นเสียชีวิตได้

อาการรุนแรงของ HACE

  1. เดินเซ
  2. เห็นภาพซ้อน
  3. ชัก
  4. หมดสติ

อาการรุนแรงของ HAPE

  1. อยู่เฉย ๆ ก็เหนื่อย หรือหอบ
  2. ไอเป็นฟองสีชมพู

ทำความรู้จักกับ AMS และโรคที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมได้ที่ https://www.thaitravelclinic.com/blog/th/other-travel-tips/altitude-sickness2-symptoms-and-preventio.html

ปรึกษา Travel Med

เมย์เพิ่งตรวจสุขภาพประจำปี จากผลทั้งหมด คุณหมอบอกว่าไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง

แต่ถึงอย่างนั้นเมย์ก็จองคิว Travel Med คลินิกนักท่องเที่ยว โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน เพื่อนำตารางการเดินทางไปปรึกษาและวางแผนการดูแลตัวเองอย่างละเอียดอีกที

คุณหมออธิบายให้เมย์เข้าใจหลักการของ AMS มากขึ้น ว่าจริง ๆ แล้วไม่ใช่ข้างบนออกซิเจนน้อย แต่เพราะความดันอากาศบนที่สูงน้อยกว่าความดันอากาศที่เราใช้ชีวิตประจำวัน จนดันออกซิเจนเข้าในระบบไม่พอ ทำให้ร่างกายเข้าใจว่าขาด

วิธีแก้สมการนี้คือ เพิ่มความดันอากาศ หรือเพิ่มปริมาณออกซิเจนให้มากขึ้น

ข้อแรกทำได้ยาก ข้อที่สองมีความเป็นไปได้จริงมากกว่า แต่นั่นก็คือการเตรียมถังออกซิเจนประจำทริป อันนี้ยังยากเลย เนื่องจากน้ำหนักเฉลี่ยของสัมภาระแต่ละคนก็น้อยมากอยู่แล้ว

สิ่งที่ทำได้อีกอย่าง คือ เตรียมสายให้ออกซิเจนทางจมูก เผื่อกรณีต้องไปใช้ถังออกซิเจนของคนอื่น ระหว่างทาง

เมย์เห็นรูปห้องพยาบาล แต่ไม่รู้ว่ามีที่ระยะไหนบ้าง

เตรียมอุปกรณ์กันหนาว

เมย์เซนซิทีฟกับอากาศเย็นค่อนข้างมาก เข้าห้างยังสั่น ตอนขึ้นม่อนคลุยทูเล-จอวาเล อากาศเย็นกว่าถุงนอน วิกฤตสุด รู้เลยว่าจะปล่อยให้ตัวเองหนาวสั่นแบบนี้ไม่ได้ 

ทัวร์ที่จองไว้ รวมถุงนอน -20 C ให้แล้ว นอนบนเตียงใน Tea House มีผ้าห่มเพิ่มให้ด้วย

ดังนั้น ไม่ต้องพกถุงนอน และเบาะรองนอนไป แต่เมย์ก็ซื้อ Liner สำหรับนอนในถุงนอนไปเพิ่ม

ซื้อเสื้อสำหรับเลเยอร์กันหนาว ทั้ง Heat Tech, Fleece และ เสื้อดาวน์ขนเป็ดที่เคลมว่าสำหรับ -18 C ขาดเสื้อ Hard Shell สำหรับกันลม กันละอองฝน เก็บไว้ไปซื้อที่เนปาล

ซื้อหมวก ถุงมือ และผ้าบัฟสำหรับกันหนาวเพิ่มด้วย

ได้นำอุปกรณ์ไปลองเทสที่อากาศ -2 C ที่เมืองหิมะ ดรีมเวิล์ดมาแล้วด้วย แต่ตอนนี้ที่ Base Camp ตอนกลางคืน -14 C

ประกันชีวิตสำหรับการเดินทางขึ้นที่สูง

เป็นหนึ่งในเรื่องที่หลายคนปวดหัว เนื่องจากบริษัทประกันฯ ในไทยหลายเจ้าได้ยกเลิกความคุ้มครองการขึ้นที่สูง

แล้วเมย์ก็เปิดไปเจอว่าตัวเองซื้อตั๋วเครื่องบิน พร้อมประกันการเดินทางไว้ อ่านกรมธรรม์ทั้งหมดพบว่า ไม่มีระบุว่าไม่คุ้มครองการขึ้นที่สูงแฮะ เพื่อความชัวร์ก็โทรไปเช็คอีกที

แต่กว่าจะได้คำตอบ (คอนเฟิร์มการคุ้มครอง) ก็พอดีกับที่พี่พริ้วได้คำตอบจากประกันอีกเจ้าพอดี

สรุป เมย์มีประกันการเดินทางขึ้นที่สูงในทริปนี้ 2 ฉบับค่ะ

อาหารและพลังงาน

ระหว่างเดินป่าไทย เมย์มีจังหวะง่วงนอนแบบพร้อมชัตดาวน์ทันที เข้าใจว่าตอนนั้นร่างกายตัวเองน่าจะใกล้หมดพลังงาน ก็เลยดื่ม Energy Gel ที่เหลือจากงานวิ่ง ปรากฎว่าร่างกายดีดมาก เดินต่อจนสตาฟ และลูกหาบถามว่า “เป็นนักวิ่งหรือเปล่า” 

เมย์เลยคิดว่า Energy Gel จำเป็นมาก เพื่อบาล๊านซ์พลังงานของร่างกาย ก็แพลนว่าจะดื่มทุก 2 ชม. ขณะเดิน

ในค่าทัวร์รวมอาหารทุกมื้อ แต่เมย์เตรียม Energy Bar ไปด้วย เผื่อวันไหนกินอาหารไม่ทัน พลังงานไม่พอ

เมย์พก Whey Protein ไปกินด้วย เนื่องจากแต่ละวันเดินค่อนข้างเยอะ ใช้พลังงานมาก ร่างกายอาจสูญเสียโปรตีนได้ ซึ่งไม่ดีต่อกล้ามเนื้ออันน้อยนิดของเรา

อีกสิ่งที่เตรียมไปคือ เกลือแร่ เพื่อทดแทนเหงื่อที่เสียไประหว่างเดินทาง 

Energy Gel Energy Bar และ เกลือแร่ เป็นสิ่งที่ Travel Med เองก็แนะนำ ส่วน Whey Protein เป็น Supplement มีก็ดี ไม่มีก็ได้

วีซ่าเนปาล

กรอกเอกสารผ่านเว็บและนำไปยื่นที่สถานฑูตเนปาลพร้อมพาสปอร์ต

เดินเข้าประตูเล็ก กรอกชื่อเสร็จ เดินเลี้ยวซ้าย เข้าประตูแดงที่เขียนว่า VISA

เวลายื่น 09.00-12.00 น. 

เวลารับกลับ 14.30-16.00 น.

เมย์เลือกแบบ 15 วัน ค่าวีซ่า 1,200 บาท

(ณ วันที่เขียนโพสต์ ระบบวีซ่าที่สถานฑูตมีปัญหา ใครทำไม่ทัน สามารถทำ Visa on Arrival ได้)

ออกกำลังกาย

อีกสิ่งนึงที่จะช่วยให้เราเดินไปถึงเป้าหมายได้ราบรื่นมากขึ้น คือความฟิต

Travel Med ถามเมย์แค่ว่า “Squats 100 ครั้งติดกันได้ไหม” “เคยวิ่ง Half Marathon หรือเปล่า”

เมย์ทำได้ หลังเดินป่าสุขภาพร่างกายดีขึ้นเยอะ ลงจากป่าวิ่ง Half Marathon ได้เลย ส่วน Squats ทำบ้างอยู่แล้ว

ช่วงว่างจากเดินป่า เมย์พยายามไปเดิน-วิ่ง ที่สวนสาธารณะให้ได้ 7-10 กม. แต่ช่วง PM 2.5 เยอะ เมย์เน้นออกกำลังกายในบ้าน

สิ่งที่ทำตอนนี้คือ Squats วันละ 100 ครั้ง และ (ตั้งใจ) กระโดดเชือก เพิ่มความอึดให้ร่างกาย

สนใจเรื่องผิว สกินแคร์ การเงิน การเดินทาง การใช้ชีวิต และการจดบันทึก